ปีนี้ดาวหางฮาร์ตลีย์จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 28 ตุลาคม 2553 วงโคจรในขณะนั้นมีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (perihelion) อยู่ห่าง 1.059 หน่วยดาราศาสตร์ จุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุด (aphelion) อยู่ห่าง 5.886 หน่วยดาราศาสตร์ ไกลกว่าวงโคจรของดาวพฤหัสบดีเล็กน้อย คาบการโคจรยาวนาน 6.47 ปี ปีนี้เป็นปีที่ดีที่สุดสำหรับการสังเกตดาวหางดวงนี้นับตั้งแต่มันถูกค้นพบ ข้อมูลจากนาซาระบุว่าดาวหางฮาร์ตลีย์จะเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 20 ตุลาคม 2553 เวลา 17:26 น. ตามเวลาสากล (ช้ากว่าเวลาประเทศไทย 7 ชั่วโมง) ด้วยระยะห่างเพียง 0.1209 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 47 เท่าของระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงจันทร์จากวงโคจรและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวหางฮาร์ตลีย์ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะห่างของดาวหางจากโลกและดวงอาทิตย์ ข้อมูลจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลคาดหมายว่าดาวหางฮาร์ตลีย์จะสว่างที่สุดในปลายเดือนตุลาคมด้วยโชติมาตร 4.4 แต่ค่านี้อาจคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากดาวหางมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงความสว่างที่ไม่สามารถคาดหมายอย่างแม่นยำได้ ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2553 ดาวหางฮาร์ตลีย์มีความสว่างจางกว่าที่คาดไว้มากถึง 2-3 โชติมาตร อย่างไรก็ตาม ต้นเดือนตุลาคม ดาวหางฮาร์ตลีย์ได้กลับมาสว่างเกือบใกล้เคียงกับที่คาดไว้แล้ว
ดาวหางเป็นวัตถุขนาดเล็ก รูปร่างไม่แน่นอน นิวเคลียสหรือใจกลางดาวหางโดยทั่วไปมีขนาดเล็กกว่า 10 กิโลเมตร ประกอบด้วยน้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และแอมโมเนีย ปะปนอยู่กับฝุ่นและหิน ขณะที่ดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มันจะมีปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยและจางมาก แสงส่วนใหญ่ที่สังเกตได้เกิดจากการสะท้อนแสงอาทิตย์ เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ภายในระยะ 5 หน่วยดาราศาสตร์ รังสีความร้อนจะทำให้น้ำแข็งระเหิด นำพาฝุ่น แก๊ส และโมเลกุลต่าง ๆ พุ่งออกมา เกิดเป็นหัวดาวหางหรือโคม่า (coma) มีลักษณะเป็นทรงกลมล้อมรอบนิวเคลียส ฝุ่นและแก๊สเหล่านี้พุ่งออกมาจากพื้นผิวด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ จากนั้นลมสุริยะจะทำให้เกิดหาง โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 หาง คือหางแก๊สหรือหางพลาสมา หางอีกชนิดคือหางฝุ่นหางแก๊สประกอบด้วยอนุภาคมีประจุไฟฟ้า มันได้รับอิทธิพลจากสนามแม่เหล็กในลมสุริยะ จึงพุ่งไปตรง ๆ ในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หางฝุ่นสะท้อนแสงอาทิตย์จึงมีสีเหลือง แรงที่ผลักหางฝุ่นคือแรงดันจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ หางฝุ่นมักทอดยาวเป็นแนวโค้ง แผ่กว้างและแบน ฝุ่นที่ถูกทิ้งไว้ในอวกาศเรียกว่าสะเก็ดดาว ซึ่งหากแนวการเคลื่อนที่ของมันผ่านใกล้วงโคจรโลกจะทำให้เกิดฝนดาวตก
ดาวหาง 103 พี/ฮาร์ตลีย์ (103P/Hartley) หรือชื่อเดิมฮาร์ตลีย์ 2 (Hartley 2) ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกว่าดาวหางฮาร์ตลีย์ กำลังจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในเดือนตุลาคม 2553 คาดว่าสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์
มัลคอล์ม ฮาร์ตลีย์ (Malcolm Hartley) ค้นพบดาวหางฮาร์ตลีย์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2529 จากภาพถ่ายที่หอดูดาวไซดิงสปริง ประเทศออสเตรเลีย นับเป็นเวลา 9 เดือน หลังจากดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในปี 2528 ดาวหางดวงนี้เป็นดาวหางรายคาบ (คาบการโคจรต่ำกว่า 200 ปี) ปี 2528 ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดด้วยระยะห่าง 0.952 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งใกล้กว่าวงโคจรโลก แต่หลังจากที่ดาวหางผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในช่วงปลายปี 2536 ถึงต้นปี 2537 (ใกล้ที่สุดวันที่ 19 ธันวาคม 2536 ห่าง 0.374 หน่วยดาราศาสตร์) อิทธิพลแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์ยักษ์ทำให้จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของดาวหางฮาร์ตลีย์ในปี 2540 ขยับออกไปอยู่นอกวงโคจรโลกที่ระยะ 1.032 หน่วยดาราศาสตร์
เอื้อเฟื้อข้อมูล : NASA ;Hubble Probes Comet 103P/Hartley 2
: สมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย