วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ดาวหางฮาร์ตลีย์ (103P/Hartley)



 
ปีนี้ดาวหางฮาร์ตลีย์จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 28 ตุลาคม 2553 วงโคจรในขณะนั้นมีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (perihelion) อยู่ห่าง 1.059 หน่วยดาราศาสตร์ จุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุด (aphelion) อยู่ห่าง 5.886 หน่วยดาราศาสตร์ ไกลกว่าวงโคจรของดาวพฤหัสบดีเล็กน้อย คาบการโคจรยาวนาน 6.47 ปี  ปีนี้เป็นปีที่ดีที่สุดสำหรับการสังเกตดาวหางดวงนี้นับตั้งแต่มันถูกค้นพบ ข้อมูลจากนาซาระบุว่าดาวหางฮาร์ตลีย์จะเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 20 ตุลาคม 2553 เวลา 17:26 น. ตามเวลาสากล (ช้ากว่าเวลาประเทศไทย 7 ชั่วโมง) ด้วยระยะห่างเพียง 0.1209 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 47 เท่าของระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงจันทร์จากวงโคจรและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวหางฮาร์ตลีย์ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะห่างของดาวหางจากโลกและดวงอาทิตย์ ข้อมูลจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลคาดหมายว่าดาวหางฮาร์ตลีย์จะสว่างที่สุดในปลายเดือนตุลาคมด้วยโชติมาตร 4.4 แต่ค่านี้อาจคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากดาวหางมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงความสว่างที่ไม่สามารถคาดหมายอย่างแม่นยำได้ ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2553 ดาวหางฮาร์ตลีย์มีความสว่างจางกว่าที่คาดไว้มากถึง 2-3 โชติมาตร อย่างไรก็ตาม ต้นเดือนตุลาคม ดาวหางฮาร์ตลีย์ได้กลับมาสว่างเกือบใกล้เคียงกับที่คาดไว้แล้ว




       ดาวหางเป็นวัตถุขนาดเล็ก รูปร่างไม่แน่นอน นิวเคลียสหรือใจกลางดาวหางโดยทั่วไปมีขนาดเล็กกว่า 10 กิโลเมตร ประกอบด้วยน้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และแอมโมเนีย ปะปนอยู่กับฝุ่นและหิน ขณะที่ดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มันจะมีปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยและจางมาก แสงส่วนใหญ่ที่สังเกตได้เกิดจากการสะท้อนแสงอาทิตย์ เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ภายในระยะ 5 หน่วยดาราศาสตร์ รังสีความร้อนจะทำให้น้ำแข็งระเหิด นำพาฝุ่น แก๊ส และโมเลกุลต่าง ๆ พุ่งออกมา เกิดเป็นหัวดาวหางหรือโคม่า (coma) มีลักษณะเป็นทรงกลมล้อมรอบนิวเคลียส ฝุ่นและแก๊สเหล่านี้พุ่งออกมาจากพื้นผิวด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ จากนั้นลมสุริยะจะทำให้เกิดหาง โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 หาง คือหางแก๊สหรือหางพลาสมา หางอีกชนิดคือหางฝุ่น
      หางแก๊สประกอบด้วยอนุภาคมีประจุไฟฟ้า มันได้รับอิทธิพลจากสนามแม่เหล็กในลมสุริยะ จึงพุ่งไปตรง ๆ ในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หางฝุ่นสะท้อนแสงอาทิตย์จึงมีสีเหลือง แรงที่ผลักหางฝุ่นคือแรงดันจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ หางฝุ่นมักทอดยาวเป็นแนวโค้ง แผ่กว้างและแบน ฝุ่นที่ถูกทิ้งไว้ในอวกาศเรียกว่าสะเก็ดดาว ซึ่งหากแนวการเคลื่อนที่ของมันผ่านใกล้วงโคจรโลกจะทำให้เกิดฝนดาวตก
ดาวหาง 103 พี/ฮาร์ตลีย์ (103P/Hartley) หรือชื่อเดิมฮาร์ตลีย์ 2 (Hartley 2) ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกว่าดาวหางฮาร์ตลีย์ กำลังจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในเดือนตุลาคม 2553 คาดว่าสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์
       มัลคอล์ม ฮาร์ตลีย์ (Malcolm Hartley) ค้นพบดาวหางฮาร์ตลีย์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2529 จากภาพถ่ายที่หอดูดาวไซดิงสปริง ประเทศออสเตรเลีย นับเป็นเวลา 9 เดือน หลังจากดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในปี 2528 ดาวหางดวงนี้เป็นดาวหางรายคาบ (คาบการโคจรต่ำกว่า 200 ปี) ปี 2528 ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดด้วยระยะห่าง 0.952 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งใกล้กว่าวงโคจรโลก แต่หลังจากที่ดาวหางผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในช่วงปลายปี 2536 ถึงต้นปี 2537 (ใกล้ที่สุดวันที่ 19 ธันวาคม 2536 ห่าง 0.374 หน่วยดาราศาสตร์) อิทธิพลแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์ยักษ์ทำให้จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของดาวหางฮาร์ตลีย์ในปี 2540 ขยับออกไปอยู่นอกวงโคจรโลกที่ระยะ 1.032 หน่วยดาราศาสตร์




เอื้อเฟื้อข้อมูล : NASA ;Hubble Probes Comet 103P/Hartley 2
                       : สมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย







8 ความคิดเห็น:

  1. คืนวันที่ 6 ตุลาคม ดาวหางออกจากกลุ่มดาวแคสซิโอเปีย เข้าสู่กลุ่มดาวเพอร์ซิอัส อาจสว่างที่โชติมาตร 5 หรือ 6 วันที่ 8 ตุลาคม เป็นคืนที่น่าสนใจ ดาวหางจะผ่านใกล้กระจุกดาวคู่ (Double Cluster) ซึ่งประกอบด้วยกระจุกดาวเปิด 2 กระจุก อยู่ใกล้กัน สามารถสังเกตดาวหางได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 3 ทุ่ม เรื่อยไปจนถึงตี 5 ของเช้าวันถัดไป โดยดาวหางฮาร์ตลีย์จะขึ้นไปถึงสูงสุดบนท้องฟ้าทางทิศเหนือด้วยมุมเงยประมาณ 40-50 องศา ในเวลาตี 1 ครึ่ง
    หลังจากวันที่ 8 ตุลาคม ถ้าเรากำหนดให้มุมเงย 30 องศา เป็นมุมเงยต่ำสุดที่ยอมรับได้ และต้องไม่มีแสงจันทร์รบกวน เวลาที่เหมาะกับการสังเกตดาวหางจะช้าลงเรื่อย ๆ คืนวันที่ 10 ตุลาคม สังเกตได้ตั้งแต่ 4 ทุ่ม เป็นต้นไป วันที่ 14 ตุลาคม สังเกตได้ตั้งแต่ 5 ทุ่ม วันที่ 15 ตุลาคม สังเกตได้ตั้งแต่เที่ยงคืน
    วันที่ 16 ถึง 20 ตุลาคม การสังเกตดาวหางฮาร์ตลีย์ทำได้ดีที่สุดในเวลาประมาณ 03:30 น. ถึง 04:30 น. เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ดาวหางอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศเหนือ
    เช้ามืดวันที่ 22 ตุลาคม ดาวหางฮาร์ตลีย์สว่างและใกล้โลกที่สุด ขณะนั้นมันอยู่ในกลุ่มดาวสารถี ห่างกระจุกดาวเอ็ม 36 และเอ็ม 38 ราว 3 องศา แต่เป็นช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง อาจพอที่จะสังเกตได้ในช่วง 04:30 น. ถึง 05:00 น. ซึ่งดาวหางจะอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศเหนือด้วยมุมเงยประมาณ 65 องศา

    ตอบลบ
  2. ดีใจ ที่ท่านสนใจ ดาราศาสตร์ถึงเเม้จะเเคบสำหรับเมืองไทย เเต่มันคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรานะคะ

    ตอบลบ
  3. ได้ความรู้เยอะเลยคะ

    ตอบลบ
  4. ดีมากๆเลยครับได้รู้จักดาวมากมายบนทางฟ้า

    ตอบลบ
  5. อยากไป นอน ดู ดาว ตก จังเลย อ่า !!

    ตอบลบ
  6. เมื่อรัยจะมีค่าย ดาราศาสตร์ จะขอไปดูกล้องที่ใหญ่ที่สุดของประเทศหน่อยครับ เห็นมีคนบอกว่ามันใหญ่มาก

    ตอบลบ
  7. น่าสนใจมากเลยค่ะชอบมาก ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับรู้ดวงดาวและท้องฟ้า

    ตอบลบ
  8. เริ่มมีค่ายดาราศาสตร์ ต้นเดือนพฤศจิกานี้ นะคะ

    ทางหอดูดาว มีบริการให้ความรู้กะผู้สนใจ วันพฤหัสสุดท้ายของเดือนค่ะ
    มีความสนใจ อีเมลมาได้
    e-mail:cruastronomyclub@hotmail.com

    ตอบลบ

เว็บไซด์นี้เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านดาราศาสตร์ กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพด้วยนะจ๊ะ